ใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีนเข้ามาทุกทีแล้ว หลายคนก็กำลังเตรียมตัวหาซื้อของไหว้วันตรุษจีนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ไฉ่ซิงเอี้ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ จนไปถึงไหว้ผีไม่มีญาติ แต่ว่าของไหว้เจ้าวันตรุษจีนนั้นมีอะไรบ้าง เราจะแจกแจงในทราบกันที่นี่เลยค่ะ
ตรุษจีน 2564 ตรงกับวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ก่อนวันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ 1 วัน จะมีพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยอาหารคาวหวานนานับชนิด และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ คือวันจับจ่ายซื้อของ ในวันฉลองตรุษจีน อาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันอื่น ๆ ในปี
อาหารชนิดต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่าง ๆ ที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่าง ๆ มีความหมายที่เป็น มงคลในตัวของมัน มาดูกันค่ะว่าของไหว้เจ้าวันตรุษจีนนั้นมีอะไรกันบ้าง
ผลไม้ที่ใช้ไหว้ในวันตรุษจีน
- กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
- แอปเปิ้ล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
- สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวังไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
- ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
- องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
- สับปะรด คำจีนเรียกว่า “อั่งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
อาหารที่ใช้ไหว้ในวันตรุษจีน
- ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
- เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
- ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
- หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
- ปลาหมึก หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ (เหมือนปลา)
- บะหมี่ยาว หรือหมี่ซั่ว หรือฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
- เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
- ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
- สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
- หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก
ขนมที่ใช้ไหว้วันตรุษจีน
- ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
- ขนมเทียน คือ ขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายว่า หวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
- ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
- ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่า ห่อโชค โดย หมั่นโถว มีแบบที่ทำจากหัวมัน เนื้อออกสีเหลือง และแบบไม่ผสมมัน เนื้อออกสีขาว นิยมทำให้แตกเหมือนดอกไม้บาน ถ้าลูกเล็กจะแต้มจุดแดง ลูกใหญ่จะปั๊มตัวหนังสือสีแดง เขียนว่า ฮก แปลว่า โชคดี ส่วนถ้ามีไส้ เรียก “ซาลาเปา” นิยมไส้เต้าซา แป้งไม่ผสมมัน หน้าไม่แตก มีตัวหนังสือปั๊มว่า เฮง แปลว่า โชคดี นอกจากนี้ยังมี ซิ่วท้อ เป็นซาลาเปาพิเศษ ทำเป็นรูปลูกท้อ ไส้เต้าซา เพราะถือว่าเป็นผลไม้สวรรค์ ใช้ในงานวันเกิด ใครได้กินอายุจะยืนยาว
- จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกประเภท ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด, มั่วปัง คือ ขนมงาตัด, ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล, กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม และโหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง
นอกจากของไหว้เจ้า ที่เป็นอาหารคาวหวานแล้ว ในการไหว้ตรุษจีนนั้น จะต้องมีการเตรียมกระดาษเงิน กระดาษทอง สำหรับใช้ไหว้ด้วย เพราะคนจีนเชื่อกันว่า เมื่อตายไปแล้วจะไปยังอีกภพโลกหนึ่ง เรียกว่า “อิมกัง” ลูกหลานจึงต้องส่งเงินทองด้วยการเผากระดาษเงิน-กระดาษทองไปให้บรรพบุรุษได้ใช้ เพื่อแสดงความกตัญญู ซึ่งกระดาษเงิน กระดาษทองมีทั้งแบบที่ใช้ไหว้เจ้า และแบบที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษ
ซึ่งกระดาษเงิน กระดาษทองที่ใช้ไหว้เจ้า และใช้ไหว้บรรพบุรุษ
- กอจี๊ หรือ จี๊จุ้ย เป็นกระดาษเงิน-กระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า “เผ่งอัน” เป็นคำอวยพร แปลว่า โชคดี ใช้สำหรับไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
- กิมจั้ว หรือ งึ้งจั๊ว หมายถึงกระดาษเงิน-กระดาษทอง เวลาจะไหว้จะทำเป็นชุด ก่อนไหว้ลูกหลานต้องนำมาพับเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง
- กิมเต้า หรือ งึ้งเต้า หรือถังเงินถังทอง ใช้ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
- กิมเตี๊ยว คือ แท่งทอง ใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้คนตาย
- ค้อซี คือ กระดาษทอง ก่อนใช้ให้พับเป็นรูปร่างก่อน เช่น พับเป็นเรือ เรียกว่า “เคี้ยวเท่าซี” เชื่อกันว่าการพับเรือ จะได้มูลค่าสูงกว่าการพับอย่างอื่น ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง รวมทั้งไหว้คนตาย โดยเฉพาะพิธีทำกงเต๊ก ลูกหลานต้องพับค้อซี ให้มากที่สุด
- อิมกังจัวยี่ คือ แบงก์กงเต๊ก
- อ่วงแซจิ่ว ใช้เผาเป็นใบเบิกทางไปสวรรค์สำหรับผู้ตาย
- เพ้า คือ ชุดของเทพเจ้า คล้ายกับที่คนไทยถวายผ้าห่มพระพุทธรูป มีการทำของเจ้าหลายองค์ เช่น ชุดของเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม พระพุทธ
- ตั้วกิม เป็นกระดาษเงิน-กระดาษทองที่ญาติสนิทนำไปไหว้ผู้ตาย การเผากระดาษเงิน-กระดาษทองจะต้องทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้ทุกคนได้เซ่นไหว้เสร็จ ก็จะทำการ “เหี่ยม” หรือจบเหนือศีรษะ ระหว่างนี้ให้ทำการอธิษฐานขอพรไปด้วย แล้วจึงนำไปเผา เมื่อไฟมอดแล้วจึงไหว้ลา เป็นการเสร็จพิธี