ประวัติและความเป็นมาวันไหว้พระจันทร์

ประวัติและความเป็นมาวันไหว้พระจันทร์

วันไหว้พระจันทร์ใกล้เข้ามาแล้ว มีหลายคนอยากทราบประวัติความเป็นมาของวันไหว้พระจันทร์ว่าเป็นอย่างไร medtua.com เลยนำบทความประวัติวันไหว้พระจันทร์มาฝาก วันไหว้พระจันทร์นั้น เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน 

และในเทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ท้องถิ่น

ประวัติวันไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี (วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน) ทุกๆ ครัวเรือนจะซื้อขนมไหว้พระจันทร์มาไหว้พระจันทร์ พร้อมกับการชมพระจันทร์จนกลายเป็นประเพณีของจีนตลอดมา สำหรับประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันไหว้พระจันทร์นั้น เกิดขึ้นเมื่อสมัยมองโกลเข้ามาปกครองแผ่นดินจีน เมื่อชาวมองโกลกดขี่ข่มเหงและทำร้ายชาวจีนอย่างโหดเหี้ยม และเพื่อควบคุมดูแลชาวจีนอย่างใกล้ชิด ชาวมองโกลจึงส่งทหารของตนไปประจำอยู่ในบ้านของชาวจีนครอบครัวละ 1 คน

เป็นอันว่าชาวจีนทุกๆ ครัวเรือนต่างต้องเลี้ยงดูทหารมองโกล 1 คน ทหารมองโกลเหล่านี้ยังก่อกรรมทำชั่วไปหมดทำให้ชาวจีนขุ่นเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านหลิวปั๋วเวิน คิดได้วิธีหนึ่ง คือ ให้นำกระดาษเขียนข้อความ แล้วสอดไส้ไว้ในขนม เรียกร้องให้ชาวจีนทุกคนลงมือสังหารทหารมองโกลที่ประจำอยู่ในบ้านของตน อย่างพร้อมเพรียงกันในวันเพ็ญเดือนแปด ทั้งนี้เพื่อให้ชาวจีนที่ไปซื้อขนมมารับประทานกัน ต่างได้อ่านข้อความดังกล่าวและช่วยกันกระจายข่าวนี้ออกไป เพื่อก่อการปฏิวัติโดยพร้อมเพรียงกัน ณ วันเพ็ญเดือนแปด ทำให้สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลในที่สุด

ขนมไหว้พระจันทร์

ขนมไหว้พระจันทร์

เพื่อเป็นการฉลอง และรำลึกการกอบกู้แผ่นดินที่ประสบความสำเร็จ ประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันเทศกาลดังกล่าวจึงมีการสืบทอดกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าแห่งหนใดที่มีชาวจีนเดินทางไปถึงก็จะพาประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ ไปด้วย สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ที่แพร่หลายในไทยนั้น เป็นแบบของกวางตุ้งโดยส่วนใหญ่ หลายปีที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ที่ผลิตในไทย ไม่ว่าด้านคุณภาพ รสชาติ และการบรรจุล้วนมีระดับที่สูงขึ้น

ซึ่งขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์ได้มีการดัดแปลงทั้งรสชาติและรูปร่างหน้าตาให้ดูทันสมัยหลากหลายไส้มากขึ้น แต่ก่อนที่เราจะไปทราบว่าไส้ต่างๆ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดมีอะไรบ้างเรามารู้กันสักนิดว่า “ขนมไหว้พระจันทร์” ทำไมต้องเป็นทรงกลม คำตอบก็คือเพราะขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมที่เราใช้ไหว้พระจันทร์ จึงต้องทำออกมาในลักษณะทรงกลมคล้ายดวงจันทร์นั่นเอง ส่วนตัวขนมจะทำจากแป้งและใส่ไส้เอาไว้ภายใน เจ้าไส้ที่ว่านี่แหละที่เป็นจุดเด่นที่ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์มีจุดเด่นต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่หากเป็นแบบต้นตำหรับจะเป็นธัญพืชต่างๆ เช่น ทุเรียน, เมล็ดบัว, แมคคาเดเมีย, พุทราจีน เป็นต้น

ตำนานวันไหว้พระจันทร์

ตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ ตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ มีเรื่องเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งสมัยก่อนโบราณกาลนั้น โลกของเรามีดวงอาทิตย์อยู่ถึงสิบดวง ทำให้โลกมนุษย์เกิดภัยพิบัติไปทั่ว แผ่นดินร้อนระอุ น้ำเหือดแห้ง ผู้คนไม่มีที่หลบซ่อนอาศัย ต่อมาได้ปรากฏวีรบุรุษนามว่า โฮ่วอี้ เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้แม่นยำอย่างมาก โดยสามารถยิงธนูขึ้นสู่ฟ้าเพียงดอกเดียว ถูกดวงอาทิตย์ถึงเก้าดวง ทำให้เหลือดวงอาทิตย์อยู่เพียงดวงเดียว เป็นการขจัดความทุกข์ให้กับประชาชนทั่วไป จึงได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์

แต่เมื่อโฮ่วอี้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ลุแก่อำนาจ ลุ่มหลงในสุรานารี ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ ทำให้ราษฎรโกรธแค้นชิงชังเขาเป็นที่สุดเมื่อโฮ่วอี้รู้ตัวดังนั้นจึงเดินทางไปที่ภูเขาคุนหลุน เพื่อขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่หวังหมู่มากิน แต่ ฉางเอ๋อ ผู้เป็นภรรยากลัวว่า ถ้าสามีของนางมีอายุยืนนาน อาจจะนำพาเอาความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนเป็นแน่แท้ ดังนั้นนางจึงตัดสินใจแอบขโมยยาอายุวัฒนะนั้นมากินเสียเอง เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างของฉางเอ๋อก็เบาหวิว และลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมา บนดวงจันทร์ก็ปรากฏภาพเทพธิดา ที่เชื่อกันว่าเป็นฉางเอ๋อนี้เอง

กระต่ายบนดวงจันทร์ ยังมีอีกตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ ก็คือ ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ ตามตำนานกล่าวว่า มีอยู่ปีหนึ่งในเมืองปักกิ่งเกิดโรคอหิวาระบาดหนัก เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์ได้มองลงมาเห็น ก็ทำให้รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จึงได้ส่งกระต่ายหยกข้างกายที่ปกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ ให้ลงมารักษาโรคชาวบ้าน กระต่ายหยกแปลงกายเป็นหญิงสาวไปรักษาผู้คนหายจากโรค ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือ จึงได้ตอบแทนด้วยการให้สิ่งของ แต่กระต่ายหยกก็ไม่ยอมรับสิ่งใดเลย เพียงแค่ขอยืมชุดชาวบ้านใส่เท่านั้น ไปถึงไหนก็จะเปลี่ยนชุดไปเรื่อย

บางทีก็เห็นแต่งกายเป็นคนขายน้ำมัน บ้างก็เป็นหมอดูดวง บ้างแต่งกายเป็นชาย บ้างแต่งเป็นหญิง และเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น กระต่ายหยกจะขี่ม้าบ้าง กวางบ้าง สิงโตบ้าง หลังจากกำจัดโรคภัยให้ชาวเมืองเสร็จเรียบร้อย กระต่ายหยกก็กลับขึ้นไปยังดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในวันไหว้พระจันทร์ด้วย

ขั้นตอนพิธีการไหว้พระจันทร์

พิธีไหว้พระจันทร์จะไหว้กลางแจ้งหลังพระอาทิตย์ตกดินหรือเริ่มตอนหัวค่ำ (เมื่อเห็นพระจันทร์ก็สามารถไหว้ได้เลย) การตั้งโต๊ะจะจัดให้เรียบร้อยก่อนพระจันทร์ลอยสูงเกินขอบฟ้า และเก็บก่อนที่พระจันทร์เลยหัวไปหรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง สถานที่ไหว้พระจันทร์อาจเป็นลานบ้านหรือดาดฟ้าก็ได้

เครื่องบวงสรวงที่ใช้จะไหว้ด้วยของเจเหมือนไหว้เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งไหว้พระจันทร์เพื่อให้มีคู่ คนจีนจะถวายอาหารเป็นเลขคู่ แต่บางคนอาจถวายอย่างละ 5 ก็ได้ ของไหว้ควรเป็นของแห้ง เพราะการไหว้พระจันทร์จะทำพิธีในตอนกลางคืน หากไหว้ด้วยของสดอาจเน่าเสียได้ง่าย

ของไหว้สำหรับใช้ในพิธีไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะ

  • ขนมหวาน เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี๊ยะ สาคูแดง ขนมโก๋สีขาว ควรเลือกที่มีรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์
  • โคมไฟ สำหรับจุดไฟ เปรียบเหมือนชีวิตที่สว่างไสว
  • ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง ตลับแป้ง น้ำหอม อันเป็นการสื่อ
  • ว่ามีเสน่ห์สวยงามเหมือนพระจันทร์ที่เปรียบเป็นเพศหญิง
  • อ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม

บทสวดวันไหว้พระจันทร์

บทสวดแบบจีน ไถ่อิมแชกุงเสี่ยเก็ง “พระคัมภีร์แม่พระจันทร์”

ไถ่ อิม ผ่อ สัก เฮี่ยง ตัง ไล๊
โชย เต๊ง ตี่ เง็ก กิ๋ว เต่ง ไค
จับ บ่วง โป้ย โซย จู ผ่อ สัก
จู ฮุก ผ่อ สัก เหลียง เปียง ไป๊
จู จุง ฮุก เก่ง บ่อ ฮุ๊ง ตี่
ฉุก จุ้ย โน๊ย ฮวย หมั๋ว ตี่ ไค
ท้าว ตั่ว ฉีก จั๊ง จู ป้อ ถะ
พั๊ว ซอ สี่ ไก่ งั้ง กวง เม็ง
เจก ฮุก ป่อ ตับ ที ตี่ อึง
หยี่ ฮุกป่อ ตับ แป๋ บ้อ อึง
ต่อ แซ แป่ บ้อ เจ็ง ฮก ซิ่ว
ก่วย สี่ แป่ บ้อ จ๋า เถี่ยว แซ
นำ มอ ฮุก นำ มอ หวบ
นำ มอ ออ นี ถ่อ ฮุก
ที ล๊อ ซี๊ง ตี่ หล่อ ซี๊ง
นั๊ง หลี่ หลั่ง หลั่ง หลี่ ซิง
เจก เฉียก ใจ เอียง ฮ่วย อุ่ย ติ๊ง
อู่ หนั่ง เนี่ยม ติ๊ก ฉีก เพียง ไถ่ อิม เก็ง
แซ ซี่ ปุก ตะ ตี่ เง็ก มึ๊ง

บทสวดแบบไทย

คำบูชาพระ
อิมินา สักกาเรนะ ตัง พุทธัง อะภิปูชะยามิ

อิมินา สักกาเรนะ ตัง ธัมมัง อะภิปูชะยามิ

อิมินา สักกาเรนะ ตัง สังฆัง อะภิปูชะยามิ

คำนมัสการพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธังภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)

สะวาขาโต ภะคะวะตาธัมโม ธัมมังนะมัสสามิ (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)

คำอาราธนาศีล 5
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ

ทุติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ

ตะติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ

คำนมัสการพระพุทธเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ศีล 5
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

บทสวดชุมนุมเทวดา
“สัค เค กาเม จะ รูเป คิริสิขิระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะ วัตถุมหิ เขตเต ภุมมา จายันทุ เทวา ชะละถะละ วิสะเม ยักขะ คันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุฯ ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตาฯ”

แล้วกล่าวคำ อธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าชื่อ… นามสกุล… เพศ… เกิดวันที่… เดือน… พ.ศ. … อายุ… เชื้อชาติ… สัญชาติ… ศาสนา… บิดาชื่อ… นามสกุล… มารดาชื่อ… นามสกุล… ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่… ถนน… ตรอก/ซอย… ตำบล/แขวง… อำเภอ/เขต… จังหวัด… มีความจำเป็นจึงต้องทำพิธีขอจากพระจันทร์”

พร้อมกับนำกระเป๋าสตางค์ที่เตรียมไว้มาอธิษฐานและจินตนาการสิ่งที่ต้องการ จากนั้นกล่าวต่อว่า “ขอให้การดำเนินชีวิตของข้าพเจ้าอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่ฟ้ากำหนดให้ข้าพเจ้าเกิดมา” แล้ว อธิษฐานขอตามที่ต้องการ แต่ต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อยู่ในกรอบเหตุผล ไม่ขัดกฎหมายหรือศีลธรรม เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
sanook.com
nanitalk.com
Design vector created by pikisuperstar – www.freepik.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *