วันสารทจีน หรือเทศกาลสารทจีนถือเป็นวันสำคัญคนเชื้อสายจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ วันสารทจีน หรือ เทศกาลสารทจีน (Sart Chin Day or Ghost Festival or Spirit Festival) นั้นจะ ตรงกับเดือน 7 ตามปีปฏิทินทางจันทรคติของจีน ที่โดยปกติแล้วจะช้ากว่าปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยประมาณ 2 เดือน ซึ่งตามปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยวันสารทจีนจะตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9
วันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือ วันเทศกาลจงเยฺวี๋ยน วันเทศกาล Zhongyuan ของจีน หรือที่เราเรียกว่า วันสารทจีน เป็นวันซึ่งทุกครอบครัวทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้น บางครั้งชาวจีนจึงเรียกวันดังกล่าวว่า GuiJie กุ่ยเจี๋ย หรือ Wangren Jie หวางเหรินเจี๋ย
- Gui = ผี ซึ่งเป็นคำเรียกคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว
- Wangren = คนที่ตายไปแล้ว
- Jie = เทศกาล
ประวัติวันสารทจีน
ประวัติวันสารทจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญอุทิศอาหารเซ่นไหว้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตามปฏิทินจีนวันสารทจีนจะตรงกับวันที่ 15 ของเดือน 7 พิธีการเซ่นไหว้นี้จะจัดเป็น 3 ชุด ให้กับบรรพบุรุษ, เจ้าที่ และสัมภเวสี
ตำนานวันสารทจีน
ตำนานวันสารทจีน 1 ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่เงี่ยมล้อเทียนจือ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
ตำนานวันสารทจีน 2 มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ
ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียนแต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุดได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดและเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสมู่เหลียนได้เข้าไปขอพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ยมบาล) ว่าตนของรับโทษแทนมารดา
แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตน
ของเซ่นไหว้วันสารทจีน
อาหารและขนมที่ลูกหลานเลือกมาไหว้ในเทศกาลสารทจีนนี้ เลือกใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุด อาหรมีความหมายดี ที่จัดให้ครบทุกหมวดทั้งคาว หวาน และผลไม้มาดูกันว่าแต่ละอย่างจะมีความหมายดี เสริมมงคลให้แก่ผู้ไหว้อย่างไรบ้าง
- ของคาว ที่ใช้เซ่นไหว้วันสารทจีน
- ไก่ต้ม (ทั้งตัว) หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความขยันขันแข็ง
- เป็ดพะโล้ (ทั้งตัว) หมายถึง ความสามารถที่หลากหลาย เก่งรอบด้าน
- ขาหมูพะโล้ หมายถึง ความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์
- เกี๊ยวกุ้ง หมายถึง การห่อหุ้มโชคลาภเอาไว้
- ปลา หมายถึง มีอันจะกินไม่มีวันหมดสิ้น
- กุ้ง (สุก) หมายถึง ความสุข
- หมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์เหลือกินเหลือใช้
- ปู หมายถึง การมีชื่อเสียง มีบารมี
- ของหวาน (ขนม) ที่ใช้เซ่นไหว้วันสารทจีน
- ขนมเข่ง หมายถึง ชีวิตที่ราบรื่น ความอุดมสมบูรณ์
- ขนมเทียน หมายถึง ความสว่างไสว ความเจริญรุ่งเรือง
- ขนมเปี๊ยะ หมายถึง ความสามัคคี กลมเกลียว
- ขนมกุ้ยช่าย หมายถึง การมีอายุที่ยืนนาน
- ขนมถ้วยฟู หรือ ขนมปุยฝ้าย หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู และงอกงาม
- ซาลาเปา หรือ ซิ่วท้อ หมายถึง สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว
- ผลไม้ ที่ใช้เซ่นไหว้วันสารทจีน
- ส้ม หมายถึง ความโชคดี ร่ำรวย
- กล้วยสุก หมายถึง ความสำเร็จ โชคลาภ
- สัปรด หมายถึง การเรียกโชคลาภให้เข้าบ้าน
- องุ่น หมายถึง ความร่ำรวย ความเจริญงอกงาม และมีอายุยืน
- แก้วมังกร หมายถึง ความสิริมงคล ความอุดมสมบูรณ์
- แอปเปิลสีแดง หมายถึง การมีชีวิตที่สงบสุข สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
- สาลี่สีทอง หมายถึง โชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา
- ลูกพลับ หมายถึง ความหนักแน่น จิตใจเข้มแข็ง
- ทับทิม หมายถึง การแบ่งปันเอื้อเฟื้อกันในครอบครัว
วิธีการเซ่นไหว้ในวันสารทจีน
วิธีการเซ่นไหว้สารทจีนนั้น ลูกหลานจะซื้ออาหาร ขนม และนัดหมายวันไหว้กันในวันที่อยู่กันพร้อมหน้า โดยช่วงเช้าจะจัดอาหารเป็น 3 ชุด ได้แก่ อาหารไหว้เจ้าที่, อาหารไหว้บรรพบุรุษ และอาหารชุดไหว้สัมภเวสี ไหว้ตามลำดับ
- ช่วงเช้า ตั้งโต๊ะอาหารไหว้เจ้าที่ และลูกสาวที่แต่งงานออกไปแล้วต้องกลับไปไหว้ที่บ้านเดิมของตน
- ช่วงบ่าย เซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือที่เรียกว่า ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ โดยจะวางอาหารไว้นอกบ้าน วางกระดาษเงินกระดาษทอง และจัดอาหารพิเศษที่เรียกว่า คอปึ่ง โดยทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่ายนั้นจัดไหว้พร้อมกันได้
ข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติในวันสารทจีน
ข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติในวันสารทจีน ได้แก่ ไม่ควรแต่งงานในเดือนนี้, ห้ามเดินทาง, ห้ามอยู่นอกบ้านในช่วงเวลากลางคืน, ห้ามซื้อขาย หรือย้ายบ้านในเดือนนี้, ห้ามเริ่มต้นงานก่อสร้าง, ไม่ควรดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
th.wikipedia.org
thairath.co.th
sanook.com