พระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภและความร่ำรวย ชายาของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ได้ชื่อว่าเป็นเทวีแห่งโชคลาภและความร่ำรวยตามคติความเชื่อเทวะมันตรา พระแม่ลักษมีจึงได้รับการเคารพบูชาทั้งในประเทศต้นกำเนิดศาสนาฮินดูอย่างอินเดียและในประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย รวมถึงในไทยก็มีผู้คนจำนวนมากที่ศรัทธาในองค์พระแม่ลักษมี เดินทางไปกราบไหว้บูชากันอยู่เรื่อย ๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยไปกราบไหว้บูชา พระแม่ลักษมี และอยากจะไปขอพร
ในครั้งนี้เราได้รวบรวมบทความเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พระแม่ลักษมี ทั้งสถานที่ไหว้ บทสวดขอพร วิธีการไหว้ ของไหว้ที่ถูกต้องเหมาะสม ในการบูชาและขอพรจากพระแม่ลักษมี มาเป็นแนวทางสำหรับทุกคนกัน
พระแม่ลักษมีคือใคร ?
พระแม่ลักษมี เป็นเทพีตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นพระชายาของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ผู้ที่นับถือศรัทธาจะถือว่า พระแม่ลักษมี เป็นเทวีแห่งความงดงาม ความร่ำรวย และความอุดมสมบูรณ์ พระองค์มักจะประทานความสำเร็จในการประกอบกิจการ การเจรจาต่อรอง การทำมาค้าขาย การประกอบธุรกิจทุกสาขา ตลอดจนประทานโภคทรัพย์ เงินทอง สมบัติ แก่ผู้หมั่นบูชาพระองค์และประกอบความดีอยู่เป็นนิจ โดยในภาพมักเขียนถึงพระแม่ลักษมีว่าเป็นสตรีที่งดงาม มี 2 กรแบบคนธรรมดา (บางตำราก็ว่ามี 4 กร) สีกายเป็นสีทอง เสื้อทรงสีเหลือง แดง หรือชมพู นั่งหรือยืนบนดอกบัว (บางตำราก็ว่านั่งบนหลังช้าง) และมือถือดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และมักจะถือไว้ 2 ดอก (บางตำราก็ว่าถือหม้อน้ำในมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งหงายลงสู่พื้น มีเหรียญทองโปรยปรายลงมา เป็นสัญลักษณ์ของเทวีแห่งโชคลาภและความร่ำรวย)
พระแม่ลักษมีมักจะอวตารไปเป็นชายาของพระวิษณุ (พระนารายณ์ ผู้ดูแลรักษาโลก) อยู่ทุกครั้งไป เช่น เมื่อ พระวิษณุ อวตารเป็น พระราม พระแม่ลักษมีก็ตามไปเกิดเป็น พระนางสีดา ในปางกฤษณาวตาร พระวิษณุ อวตารเป็น พระกฤษณะ พระแม่ลักษมีก็ไปเป็น พระนางรุกมิณี หรือ พระนางราธาเทวี และในปางปรศุรามาวตารก็ไปอวตารเป็น พระแม่ธรณี ในปางวามนาวตารก็อวตารไปเป็น พระนางกมลา เป็นต้น ด้วยความรักเดียวใจเดียวและความซื่อสัตย์ มั่นในรักของพระแม่ลักษมีที่มีต่อพระสวามี ผู้ที่นับถือพระองค์จึงเชื่อกันว่า การบูชาพระแม่ลักษมีจะช่วยเสริมดวงด้านความรักได้อีกด้วย
พระแม่ลักษมี ในร่างอวตารต่าง ๆ
พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความงดงาม ความอุดมสมบูรณ์ และความร่ำรวย มีปางหลักหรือร่างอวตารทั้งหมด 8 ปาง หรือที่เรียกกันว่า พระอัษฏลักษมี ดังนี้
คชลักษมี (GAJA LAKSHMI)
ปางหลักแห่งองค์พระแม่ลักษมีเทวี ปางนี้มีทั้งยืนและนั่งบนดอกบัว มีช้างเป็นบริวาร สวมอาภรณ์สีสันสวยงาม มี 4 กร 2 มือด้านหลังถือดอกบัว 2 มือด้านหน้ายกให้พรและโปรยเหรียญทอง ประทานพรความสำเร็จทั้งการงาน การเงิน ความรัก แก่ผู้บูชา เป็นปางที่พบเห็นได้มากที่สุดในภาพเขียน นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปางที่มีความใกล้เคียงกับปางคชลักษมี นั่นคือ ปางอิศวารยะลักษมี ปางแห่งความกล้าหาญชาญชัย ปางนี้มีทั้งยืนและนั่งบนดอกบัว สวมอาภรณ์สีขาวล้วน มี 4 กร 2 มือด้านหลังถือดอกบัว 2 มือด้านหน้ายกและหงายทั้ง 2 ข้างเพื่อประทานพร ผู้บูชาจะได้รับความกล้าหาญ กล้าคิดกล้าทำ เป็นปางแห่งชัยชนะและโชคลาภด้านความเสี่ยงทุกประเภท
ธัญญลักษมี (DHANYA LAKSHMI)
ปางแห่งความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณ พืชไร่ นา สวน ป่าไม้ ดอกไม้ ปางนี้มี 8 กร แต่ละกรจะถือพืชพรรณต่าง ๆ เช่น ต้นข้าว ปางนี้เป็นปางที่พระองค์ลงมาปรากฏเพื่อโปรดสรรพมนุษย์ที่ทำกินเพาะปลูกบนผืนแผ่นดิน เช่น เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้บูชามักขอพรให้การเพาะปลูกมีผลผลิตงอกงาม ชาวไทย ลาว และเขมร รู้จักกันในนามของ “พระแม่โพสพ” นั่นเอง
ธนลักษมี (DHANA LAKSHMI)
ปางแห่งทรัพย์สมบัติ เงินทอง มี 6 หรือ 8 กร ทรงศาสตราวุธต่าง ๆ เช่น หอยสังข์ จักร ธนู ดอกบัว โถอัญมณี ยกมือประทานพรและโปรยเหรียญทอง ประทานความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทองแก่ผู้บูชา
อาทิลักษมี (ADHI LAKSHMI)
ปางแห่งความสำเร็จในการงานและความคิดสร้างสรรค์ มี 4 กร ถือดอกบัว ธงไชย มือด้านหน้ายกและหงายทั้ง 2 ข้าง เพื่อประทานพร ให้พรด้านการทำงาน การทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นไปด้วยความราบรื่น
ไอศวรรยลักษมี (AISHWARYA LAKSHMI) ปางแห่งความมั่งคั่ง
มี 4 กร พระหัตถ์ถือดอกบัว สวมพัสตราภรณ์ไม่ปักลายหรือสีสด ได้รับการนับถือในฐานะเทพีแห่งความมั่งคั่ง
วีระลักษมี (VEERA LAKSHMI)
ปางแห่งวีรชน นักสู้ ผู้มีพละกำลังอันไม่มีที่สิ้นสุด มี 8 กร ทรงคันธนู ศร สังข์ ดาบ และศาสตราวุธอื่น ๆ ยกมือประทานพร ผู้บูชาจะได้รับพลังอำนาจและความยิ่งใหญ่เหนือผู้อื่น
วิชัยยะลักษมี (VIJAYA LAKSHMI)
ปางแห่งชัยชนะและความแคล้วคลาดพ้นภัย มี 8 พระกร ทรงหอยสังข์ มีด ดาบ ตะบองหรือขวาน มีอานุภาพในการขจัดศัตรู ประทานความมียศถาบรรดาศักดิ์และการสรรเสริญจากผู้คน ประทานความสำเร็จทุกประการ (หากต้องการบูชาจะพบแต่ภาพเขียน ไม่ค่อยปรากฏผู้สร้างเทวรูปปางนี้เท่าใดนัก)
สันทนะลักษมี (SANTHANA LAKSHMI)
ปางแห่งครอบครัว ความผูกพันระหว่างแม่ลูก ความอบอุ่นในครอบครัว รวมถึงการขอพรให้มีลูก-ทายาท ลูกหลานเชื่อฟังคำสั่งสอนและเติบโตอย่างแข็งแรง มี 6 กร ทรงดาบ มือด้านหลังถือหม้อทั้ง 2 ข้าง อุ้มเด็กชายนั่งบนตัก
นอกจากนี้ตามตำราอื่น ๆ ยังปรากฏพระแม่ลักษมีอยู่มากมายหลายภาคหลายปาง เช่น กีรติลักษมี ปางแห่งชื่อเสียง การสรรเสริญและปางแห่งความซื่อสัตย์จงรักภักดี, อโรคยาลักษมี ปางแห่งความปลอดภัยในชีวิต ความไร้โรค และการเดินทางปลอดภัย, เสาวนาทรียะลักษมี ปางแห่งความงดงามของสตรีเพศ ความสะอาดสะอ้าน อ่อนช้อย มีเสน่ห์, และสิทธะลักษมี ปางแห่งความนิ่งสงบ จิตวิญญาณ และการเข้าถึงคำสอนของมหาเทพ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://travel.kapook.com/
https://www.pptvhd36.com/