ยาต้านโควิด-ยาฟาวิพิราเวียร์-(Favipiravir)-คือยาอะไร

ยาต้านโควิด ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คือยาอะไร

หลายคนอาจได้ยินเกี่ยวกับยาต้านโควิด แต่กระแสของยาต้านโควิดนั้นไม่มากเท่าวัคซีนโควิด-19 ทางเว็บ medtua.com จึงได้หาข้อมูลเกี่ยวกับยาต้านโควิด ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ตัวนี้มาให้อ่านกัน ว่ายาต้านโควิดคือยาอะไร และมีความสำคัญในการรักษาโควิด-19 อย่างไร และเมื่อเทียบกับวัคซีนโควิดแล้ว การทำงานของยาสองตัวนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

ความสำคัญของ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายตัว เป็นที่รู้จักกันในชื่อ T-705 หรือ Avigan พัฒนาโดย บริษัทโตยามะเคมิคอล ประเทศญี่ปุ่น มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด

ในปี 2557 ฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติในประเทศญี่ปุ่นสำหรับการสำรองยาต่อต้านการระบาดทั่วของโรคไข้หวัดใหญ่ และในช่วงการระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกมีรายงานว่า พยาบาลชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งติดเชื้ออีโบลาในขณะที่เป็นอาสาสมัครขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในไลบีเรียฟื้นตัวจากโรคหลังจากได้รับ ฟาวิพิราเวียร์ การทดลองทางคลินิกที่ตรวจสอบการใช้ฟาวิพิราเวียร์ จึงเริ่มขึ้นและพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลต่อผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอีโบลาในกระแสเลือดในระดับต่ำถึงปานกลาง

ต่อมาในปี 2563 จีนได้ทดลองยาต้านไวรัสหลายชนิดกับผู้ป่วยโควิด-19 และค้นพบว่า ฟาวิพิราเวียร์ ให้ผลต้านไวรัสที่นำไปทดลองกับคนแล้วให้ผลดีจนน่าพอใจ เพราะหลังจากได้รับยา 2 วัน ผู้ป่วย 72% มีไข้ลดลง หลังจากได้รับยา 3 วัน ผู้ป่วย 38% มีผลภาพรังสีปอดที่ดีขึ้น และหลังจาก 6 วัน ดีขึ้นเป็น 70%

สำหรับประเทศไทยยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษ และจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความปลอดภัย สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโรคโควิด-19 ได้ โดยล่าสุดองค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าจะสามารถผลิตได้ประมาณเดือน มิ.ย.- ก.ค.นี้

การออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

ยาฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คือ เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase,RdRP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีในไวรัสเท่านั้น เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (RTP) ให้ไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก

Favipiravir

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ช่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างไร

ประสิทธิภาพในการต้านไวรัสของยาฟาวิพิราเวียร์จะได้ผลดีกับผู้ที่เพิ่งเริ่มติดเชื้อใหม่ ๆ และความเสียหายของปอดไม่มาก โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาขนาด 1,600 มิลลิกรัม สำหรับผู้ใหญ่กินวันละสองครั้งในวันแรก และ 600 มิลลิกรัม วันละสองครั้งในวันที่ 2 ถึงวันที่ 5 ระยะเวลาการรักษาโดยรวมคือ 5 วัน ด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงต้องรับประทาน (1600 x 2 + 600 x 2 x 4) มก. / 200 มก. = 40 เม็ดต่อคน ผลจากการได้รับยาในปริมาณสูงอยู่ระหว่างการศึกษา

ในการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ จากโรงเรียนแพทย์ สมาคมอุรเวชช์ พร้อมเปรียบเทียบการป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศ และปรับแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 3 แนวทาง คือ

ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงสามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์

ผู้ที่มีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยง และปอดอักเสบเล็กน้อย แพทย์จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ควบคู่กับการให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการรุนแรงของโรค

และในผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง แพทย์จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ สเตียรอยด์ และโลพินาเวียร์ หรือ ริโทนาเวียร์ ควบคู่กันไป เพื่อลดปัจจัยหรือแนวโน้มที่โรคจะพัฒนา และทวีความรุนแรงจนเสียชีวิต

การทำงานของยาสองตัวนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

จากข้อมูลดังกล่าว ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จะใช้สำหรับกลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนวัคซีนโควิด-19 นั้นใช้สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อโควิด-19 นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก
workpointtoday
Frame photo created by Racool_studio – www.freepik.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *